วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2551

“บุญ”สำเร็จด้วยการอธิษฐาน

>

บุญสำเร็จด้วยการอธิษฐาน

(ถ้าไม่อธิษฐานก็เหมือนมีเงินซื้อบ้านซื้อรถ แต่ไม่ซื้อ)

การอธิษฐานอย่างนี้ เป็นอธิษฐานบารมี เป็นหนึ่งในบารมี 10 ทัศ เป็นการตั้งเป้าหมายของชีวิต ไม่ใช่เป็นการค้ากำไรเกินควร นี่ไม่ใช่เรื่องทำมาค้าขาย นี่เป็นเรื่องของบุญ ที่จะอธิษฐาน เป็นอธิษฐานบารมี เหมือนเรือที่ออกทะเล ต้องมีหางเสือ จะได้ไปสู่จุดหมายปลายทาง ถึงที่หมายโดยปลอดภัยและมีชัยชนะ ไม่เคว้งคว้างเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ อยู่กลางทะเลลึกอย่างนั้น อันตราย

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทำบุญแล้วก็อธิษฐานจิต ไม่ได้เป็นการค้ากำไรเลย ทุกบุญท่านก็อธิษฐานขอให้ได้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ไม่ว่าทำบุญเล็กบุญน้อย บุญปานกลาง บุญใหญ่ อธิษฐานขอให้ได้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า เพื่อจะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ไปสู่ฝั่งพระนิพพาน

...ชาตินี้เป็นชาติที่ต้องแก้ไขข้อบกพร่องที่ผ่านมาในชาติปางก่อนโน่น แม้เราระลึกชาติในอดีตไม่ได้ ก็ระลึกดูปัจจุบัน ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งปัจจุบัน มีอะไรที่ขาดตกบกพร่องบ้าง จะเป็นรูปสมบัติ จะเป็นทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ บริวารสมบัติ พวกพ้องอะไรต่าง ๆ ตรวจตราดูตัวของเรา เวลาเราขาดตกบกพร่องอะไร ก็จะได้ทำบุญ แล้วอธิษฐานจิต…”

อธิษฐานแล้วจะได้ผลก็ต่อเมื่อ

1) สิ่งที่อธิษฐานต้องการหรืออานิสงส์ต้องพอเหมาะกับกำลังบุญ เช่นสิ่งที่ปรารถนาใหญ่ กำลังบุญต้องใหญ่พอเหมาะกันด้วย

2) บุญในอดีตในด้านนั้นมีมากขนาดไหน เช่นบางคนชวนคนทำทานและทำด้วยตนเองได้ถึงเป้าหมายที่ตนตั้งใจไว้โดยไม่ลดเป้าลงมาเวลาบุญส่งผลจะได้สมบัติตามเป้าที่ตนเองตั้งไว้

3) บุญที่ทำในปัจจุบันได้เติมลงไปอีกจนเต็มเปี่ยมในระดับพอเหมาะกับสิ่งที่ตนปรารถนาถ้าบุญเก่าน้อยก็ต้องเติมบุญในปัจจุบันให้มาก ๆ

จะได้บุญมากต้องทำถูกทักขิไณยบุคคล ตามหลักการทำทาน ทำอย่างไรให้ได้บุญมาก

บุญต้องรอเวลาส่งผล รอเวลาให้บุญทำงาน เหมือนปลูกต้นไม้ ยังต้องรอเวลา กว่าจะออกดอกออกผล / ในกรณีที่ทำบุญมาก แล้วยังประสบกับอุบัติเหตุ ก็เพราะบาปชิงช่วงส่งผลก่อน ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องทำใจเราให้ผ่องใส อยู่ในบุญตลอดเวลา ตามตรึกระลึกนึกถึงบุญที่เราได้กระทำผ่านมา

บุญ อยู่เบื้องหลังความสุข ความสำเร็จของชีวิตทุกคน ถ้าทุนถึง มือถึง ใจถึง แต่บุญไม่ถึงก็ไม่สำเร็จ บุญเป็นแรงผลักดันให้ความปรารถนาสมหวัง บุญมีวันหมด ถ้าไม่เพิ่ม หมดได้ อย่าชะล่าใจว่ามีบุญเยอะ ชาตินี้สะดวกสบาย

เป็นสามี ภรรยากัน ไม่ใช่คิดว่าสามีทำบุญ ภรรยาจะได้ด้วย สามีทานข้าว ภรรยาไม่กินก็ตาย สามีหายใจ ภรรยาไม่หายใจ ตายนะ มีบุญได้ก็หมดบุญได้ บุญเก่าใช้ไป เอาไปสร้างบุญใหม่ เพื่อติดตัวไปในภพเบื้องหน้า

บุญหมดรักก็หน่าย รวยก็จน แข็งแรงก็ป่วย ไม่มีมหาทานบารมีมารองรับ สมบัติก็กระจาย มีบุญ สมบัติก็มารวม สมบัติเป็นของกลาง ใครมีบุญก็ได้ไปครอบครอง จนกับรวยเป็นตำแหน่งกลาง ๆ ที่ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับ ถ้าให้ ก็เป็นเศรษฐี รวย ถ้าไม่ให้ ตระหนี่ก็จน

พุทธวิธีแก้จน : วิธีแก้จนในพระพุทธศาสนา ต้องไปดูต้นเหตุของความยากจน ค้นพบว่า ความตระหนี่ ความเสียดายทรัพย์นั่นเอง ไม่ให้คือไม่ได้ ยิ่งหวงคือไล่ ให้คือเรียก

เรามีชีวิตในโลกนี้อีกไม่นาน เดี๋ยววันเดี๋ยวคืน เดี๋ยวหมดเวลาแล้ว ใช้วันเวลา ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ในการสร้างบุญ สิ่งใดที่เราได้ให้โดยการนำออก ด้วยการบริจาค ฝากฝังไว้ในวัตถุอันเลิศ กับทักขิไณยบุคคล สิ่งนั้นก็เป็นของเรา สิ่งอะไรที่เรานำออกด้วยการบริจาค สิ่งนั้นจะเป็นของเราอย่างแท้จริง อย่าไปหวังให้คนอื่นอุทิศส่วนกุศลมาให้เราเลย แม้เขาทำให้ก็ได้ไม่เท่ากับที่เราทำเองทำเอง บุญก็ได้เต็มที่ มากมายมหาศาล แต่เขาทำให้ ก็ได้นิดหน่อย เราได้เศษ เขาได้ส่วน ส่วนแห่งบุญเขาก็เอาไปแต่เศษบุญเขายกให้เรา

แล้วการที่จะให้บุญส่งผลในปัจจุบัน ต้องพยายามรักษาใจให้ผ่องใส ไม่โกรธไม่หงุดหงิดเลยในเรื่องใด ๆ ก็ตาม เช่น อากาศร้อน คนเบียดเสียด แล้วรักษาใจให้ผ่องใสสม่ำเสมอ และหมั่นเติมบุญให้กับตนเอง

อยากชวนทุกคน สร้างบารมี สั่งสมบุญ ไปกับหมู่คณะกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เพื่อปราบมารประหารกิเลส ไปสู่ที่สุดแห่งธรรม เพรามนุษย์ทุกคนยังมีเชื้อแห่งการเกิด ยังคงต้องเวียนว่าย ไปในวัฏฏะสงสาร อันยาวไกล เพราะหากชาติใด เรามาเกิดในช่วงที่ไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาบังเกิด เราจะมิอาจทราบได้เลยว่า ผิดศีลเป็นบาป จะพาเราไปอบาย ฆ่าสัตว์ไปอบาย พูดโกหก ไปอบาย เป็นต้น

หากโลกนี้เป็นโลกแห่งความเท่าเทียมกัน ทุกคนในโลกคงรวย เหมือน ๆ กัน สวย หล่อ เหมือน ๆ กัน ฉลาด เหมือน ๆ กัน หรือโง่เหมือน ๆ กัน จน เหมือน ๆ กัน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เลย จะรวย ก็ต้องประกอบเหตุ จะจนก็ต้องประกอบเหตุ จะสวยก็ต้องประกอบเหตุ จะหล่อก็ต้องประกอบเหตุ

รวยปานกลาง ก็ต้องประกอบเหตุ รวยเป็นบรมเศรษฐี อภิมหาเศรษฐี ก็ต้องประกอบเหตุทั้งสิ้น โลกนี้เป็นโลกแห่งการแลกเปลี่ยน ไม่มีอะไรได้มาฟรี ๆ

ทรัพย์ที่เราได้ ล้วนได้มาจากบุญ ที่เราสร้างไว้ สั่งสมไว้ เราเคยทำมา เราก็ได้

องค์แห่งทานที่ได้อานิสงส์มาก มีองค์ประกอบ 3 ประการคือ

1.วัตถุบริสุทธิ์ สิ่งของที่จะบริจาคทานเป็นสิ่งของที่เราทำมาหาได้โดยสุจริตเงินที่ซื้อจะต้องเป็นเงินที่เราทำมาหากินได้โดยสุจริตธรรม ทานนี้จึงจะชื่อว่าบริสุทธิ์

2.เจตนาบริสุทธิ์ ให้ด้วยความศรัทธา เชื่อในผลของทาน ไม่ได้หวังสิ่งตอบแทน

3.บุคคลบริสุทธิ์ คือผู้ให้และผู้รับ ต้องเป็นคนที่บริสุทธิ์ ผู้ให้ต้องเป็นผู้มีศีลธรรม (นั่งสมาธิใจใสๆก่อนทำ) ส่วนผู้รับ เป็นผู้มีศีล มีธรรมะหรือเนื้อนาบุญคือแหล่งกำเนิดแห่งbig boon

บุญเกิดขึ้น 3 ระยะ ตั้งแต่ก่อน กำลังทำและหลังจากทำ

องค์ของผู้ให้ 3 อย่าง

คือก่อนให้ก็ดีใจ กำลังให้ก็มีใจผ่องใส ครั้นให้เสร็จแล้วมีความเบิกบาน ปลื้มปิติ ไม่คิดเสียดาย

**แค่เราคิดว่าอยากจะให้ ไม่ว่าจะให้คนหรือสัตว์หรือผู้ทุศีล ให้ผู้มีศีลก็แล้วแต่ บุญเกิดตอนนี้แล้วแต่ยังไม่มากพอ พอจิตเป็นกุศลเอาชนะความตระหนี่และความไม่รู้ได้ ใจเราเปิด กระแสธารจากแหล่งกำเนิดของบุญศักดิ์สิทธิ์ จะไหลเข้ามาเป็นอัตโนมัติ ขณะให้นี้บุญจะได้เยอะ ตอนที่ผู้ให้ ผู้รับ วัตถุทานและเจตนา ความปรารถนาจะให้ วัตถุทานก็มีพร้อม และผู้รับก็มีพร้อม พอเราตัดขาดจากใจ มอบให้โดยเปล่งวาจาหรือทำกิริยาอาการ ตอนนี้บุญจะเกิดขึ้นครบวงจร คือบุญที่ผ่านมาทางผู้ให้กับบุญที่ผ่านมาทางผู้รับ มันเหมือนไฟฟ้าที่มาสปาร์คกัน สว่างภายใน แล้วบุญก็แรง มากกว่าตอนที่คิดจะให้ ซึ่งตอนที่มันสปาร์ค ขึ้นกับตัวผู้ให้กับผู้รับ ว่าบริสุทธิ์มากแค่ไหน สมมุติเป็นสัตว์เดรัจฉานซึ่งมีบุญญาภิสันทานหรือท่อธารแห่งบุญยังตีบตัน เพราะว่าสัตว์เดรัจฉาน ยังอยู่ในภูมิของอบาย ใจของเขามันมืดมาก กระแสธารแห่งบุญผ่านมาทางนั้นได้นิดๆ หน่อย เหมือนท่อที่เคลอะไปด้วยตะกอนตะกรัน ยังตีบตัน ผ่านมาไม่ค่อยจะได้ แต่ถ้าให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจ บุญจะเกิด 100 ชาติ ท่อธารบุญมาจรดตรงกลางกายผู้ให้ เจตนาในการให้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าบุญจะได้มากหรือได้น้อย ในบางครั้ง บุคคลผู้มีเจตนาดีทำบุญกับคนทุศีลได้ไปสวรรค์ บุคคลผู้มีเจตนาเสีย ไปทำบุญกับพระอรหันต์กลับตกนรก

องค์ของผู้รับ 3 อย่าง คือ เป็นผู้ปราศจากราคะหรือปฏิบัติเพื่อความไม่มีราคะ เป็นผู้ปราศจากโทสะหรือปฏิบัติเพื่อความไม่มีโทสะเป็นผู้ปราศจากโมหะหรือปฏิบัติเพื่อความไม่มีโมหะ

**หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญท่านเคยสั่งสอนเอาไว้ว่า บารมีอื่นทำก็ทำไปเถิด แต่อย่าขาดทานบารมี เพราะทานบารมี จะเป็นเสบียงติดตัวเราไปภพเบื้องหน้าหากเราขาดเสบียง ขาดกำลังทรัพย์ เวลาไปเกิดจะไปเกิดในตระกูลที่ต่ำต้อย ต้องใช้แรงงาน ลงทุนมากแต่ได้ผลน้อย มักต้องไปเป็นหนี้เป็นสินเขา ถ้าประกอบสัมมาอาชีวะ ก็ไม่ค่อยพอกิน ต้องคิดไปในทางทุจริต เพราะมีทรัพย์ไม่พอใช้ แต่หากเราสร้างมหาทานบารมีเอาไว้ เมื่อกระแสบุญส่งผลเราจะสมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์สร้างบารมีไปได้อย่างสะดวกสบาย

วัตถุประสงค์ของทาน แบ่งตามประพฤติปฏิบัติกัน มี 4 อย่าง คือ

1.ให้เพื่อชำระกิเลส คือความตระหนี่ในใจของผู้ให้ ด้วยการเสียสละ โดยไม่คำนึงถึงว่าผู้รับจะเป็นใครก็ตาม จะได้บุญมากที่สุด ยิ่งเรามีใจบริสุทธิ์และให้แก่ผู้ที่บริสุทธิ์มาก ยิ่งได้บุญมาก

2.ให้เพื่อตอบแทนคุณความดี คือการให้เพื่อตอบแทนหรือบูชาคุณความดีถ้าเราให้เพื่อการบูชาคุณความดี และนึกถึงบุญด้วย ย่อมมีผลานิสงส์มาก

3.ให้เพื่อสงเคราะห์ คือ การให้เพื่อผูกมิตรยึดเหนี่ยวน้ำใจกันในคนที่สัมพันธ์กับตนโดยส่วนตัวหรือหน้าที่การงาน

4.การให้เพื่ออนุเคราะห์ คือ การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ด้วยจิตเมตตาสงสาร

ประเภทของทาน ทานแบ่งตามวัตถุ คือ สิ่งของที่จะให้ มี ๒ ประเภท คือ

1. อามิสทาน คือ การให้วัตถุสิ่งของต่าง ๆ เป็นทาน แบ่งตามผู้ให้มี 3 ประเภท ดังนี้

1.) ทาสทาน คือการที่ให้ของที่ด้อยกว่าของที่ตนบริโภคใช้สอยเอง ใจยังตกเป็นทาสของความตระหนี่ ได้บุญไม่มาก

2.) สหายทาน คือให้ของที่เสมอกันกับที่ตนบริโภคใช้สอย เหมือนให้เพื่อน ได้บุญมากขึ้น

3.) สามีทาน คือให้ของที่ดีประณีตกว่าของที่ตนใช้สอย ได้บุญมากที่สุด

2. ธรรมทาน การให้ธรรมะ คือการให้ความรู้ ความถูกต้องดีงาม เป็นทาน

อามิสทาน แบ่งตามเจตนาของผู้ให้ มี 2 ประเภท คือ

1ปาฏิปุคคลิกทาน

2 สังฆทาน

ปาฏิปุคคลิกทาน คือทานที่ให้เฉพาะเจาะจงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง อานิสงส์ ได้แก่

1.ให้ทานแก่สัตว์เดรัจฉาน ได้อานิสงส์ถึง 100 ภพ คือได้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ปฏิภาณ

2.ให้ทานแก่ผู้ทุศีล ได้อานิสงส์ถึง 1,000 ภพ

3.ให้ทานแก่ผู้มีศีล ในช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนาได้อานิสงส์ 100,000 ภพ

4. ให้ทานแก่ดาบสที่ได้อภิญญาในช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนาได้อานิสงส์แสนโกฏิภพ

5.ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระโสดาบัน ผู้เป็นคฤหัสถ์หรือเป็นบรรพชิตก็ตาม จะเป็นฌานลาภีบุคคล(ผู้ได้ฌาน)หรือไม่ใช่ฌานลาภีบุคคลก็ตาม เป็นผู้มีศีล เข้าถึงไตรสรณคมน์ ได้อานิสงส์ถึงอสงไขยภพ

6. ให้ทานแก่พระโสดาบันบุคคล ย่อมมีอานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

7. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระสกทาคามี ย่อมได้อานิสงส์มากขึ้นไปอีก

8. ให้ทานแก่พระสกทาคามีบุคคล ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

9. ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอนาคามี ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

10.ให้ทานแก่พระอนาคามีบุคคล ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

11.ให้ทานแก่ผู้ที่ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

12.ให้ทานแก่พระอรหันต์ ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

13.ให้ทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

14.ให้ทานแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมได้อานิสงส์มากยิ่งขึ้นไปอีก

พระพุทธองค์ตรัสว่าปาติปุคลิกทานยังไงไม่ให้ผลเท่าสังฆทาน คือทานที่กล่าวมายังไงก็สู้สังฆทานไม่ได้ มหาสังฆทาน ที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ย่อมมีอานิสงส์มาก สังฆทาน คือ

ทานที่ให้แก่หมู่คณะไม่เฉพาะเจาะจงผู้ใดผู้หนึ่ง

1. สงฆ์ 2 ฝ่าย (ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์) มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประมุข

2. สงฆ์ 2 ฝ่าย ในเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานแล้ว

3. ภิกษุสงฆ์ 4. ภิกษุณีสงฆ์ 5. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากสงฆ์ 2 ฝ่าย

6. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากภิกษุสงฆ์ 7. บุคคลที่ได้รับอนุมัติจากภิกษุณีสงฆ์

ในปัจจุบันนี้ เราสามารถถวายทานแด่สงฆ์ได้ในข้อที่ 3 และ 6 จึงมีอยู่ 2 แบบ คือ

1.พระภิกษุ 4 รูปขึ้นไป ที่ไม่เจาะจง

2.ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับอนุมัติจากสงฆ์

ที่นี้สังฆทานยังมีบุญน้อยกว่าวิหารทาน คือเราให้อาหารไป 7 มื้อ สังฆทานยังต้องกินเพราะมีหิว สมมติว่าเรากินอาหารก็ต้องทุกวัน แต่วิหารทานใช้ได้ตลอดชาติได้เยอะกว่ามหาสังฆทาน



ไม่มีความคิดเห็น: